วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย พระโสทรเชษฐภคินี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย


แม้ตามโบราณราชประเพณี พระอิสริยศักดิ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะเทียบเท่ากับชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า แต่ด้วยความที่ทรงเป็นพระโสทรเชษฐภคินี อันสนิทแต่พระองค์เดียว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชวินิจฉัยให้พระราชทานพระอิสริยยศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อย่างสูงสุด โดยถือเป็นการอนุโลม ดังจะเห็นได้จากการที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังทรงได้รับพระราชทาน "พระโกศทองใหญ่" เป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศพระศพ ซึ่งเป็นพระโกศที่อยู่ในลำดับชั้นสูงสุด ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น โดยในรัชกาลปัจจุบัน มีพระราชวงศ์ 8 พระองค์ ที่ทรงได้รับพระราชทานพระโกศทองใหญ่ รวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8, สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า, สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ไม่เพียงเท่านี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเศวตฉัตร 7 ชั้น กางกั้นพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ แทนเศวตฉัตร 5 ชั้น ตามพระอิสริยศักดิ์ พร้อมโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมกันเป็นประธานที่ปรึกษาการจัดงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น และสมพระเกียรติที่สุด โดยจะจัดขึ้นต่อเนื่อง 6 วันเต็ม ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ย. 2551 ไฮไลต์สำคัญของพระราชพิธี ที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศเฝ้าติดตามชมก็คือ พระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในวันที่ 15 พ.ย. 2551 ซึ่งจะมีการจัดริ้วขบวนพระราชอิสริยยศอย่างงดงามตระการตา ตามโบราณราชประเพณีทุกประการ









พระราชพิธีในวันดังกล่าว แบ่งออกเป็นสามช่วงคือ เวลา 7 โมงเช้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จะเสด็จฯแทนพระองค์ตามพระโกศ ไปยังพลับพลายก หน้าวัดพระเชตุพนฯ เพื่อทรงทอดผ้าไตร 20 ไตร จากนั้นขบวนกองทหาร พร้อมขบวนพระอิสริยยศ แห่เชิญพระโกศเข้าสู่ท้องสนามหลวง และเคลื่อนพระโกศเวียนรอบพระเมรุ 3 รอบ โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬา-ภรณ์ฯ, ทูลกระหม่อมอุบลรัตนราช-กัญญาฯ จะเสด็จฯตามพระโกศ พร้อมด้วย ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม ธิดาคนเดียวของสมเด็จฯ กรมหลวงฯ และหลังเชิญพระโกศเข้าสู่พระเมรุแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ จึงเสด็จฯขึ้นสู่ พระเมรุ สักการะพระศพ ต่อมาในเวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯยังพระที่นั่งทรงธรรม และเสด็จฯขึ้นพระเมรุ พระราชทานเพลิงพระศพ จนกระทั่ง 4 ทุ่มตรง จึงเสด็จฯขึ้นพระเมรุ ท้องสนามหลวงอีกครั้ง เพื่อพระราชทานเพลิงพระศพฯจริง หัวใจสำคัญของพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ อยู่ที่การจัดสร้างพระเมรุ ในมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ให้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติที่สุด โดยตั้งแต่โบราณกาลมา พระเมรุได้ถูกใช้เป็นเครื่อง แสดงความกตัญญู และความอาลัยรักต่อพระผู้เสด็จกลับสรวงสวรรค์ อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงพระเดชานุภาพของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน สำหรับพระเมรุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ใช้เวลาจัดสร้างนานหลายเดือน ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร โดยสร้างเป็นกุฎาคารเรือนยอด ประธานมณฑลสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นพระเมรุทรงปราสาทจัตุรมุขย่อมุมไม้สิบสอง ยอดปักพระสิปตปฎลเศวตฉัตร จากฐานถึงยอดฉัตรสูง 37.85 เมตร กว้าง 31.80 เมตร ยาว 39.80 เมตร สร้างด้วยไม้ โครงสร้างภายในเป็นเหล็ก ประดับด้วยกระดาษทองย่น ตกแต่งลวดลายวิจิตรงดงาม




ฐานพระเมรุ ได้จัดทำเป็น 2 ระดับ มีบันไดทอดยาวตลอดทั้ง 4 ทิศ ระดับแรกเรียกว่า ฐานชาลา ประดับด้วยรูปเทวดานั่งคุกเข่า พระหัตถ์ถือบังแทรกตรงกลางเป็นโคมไฟ ประดับตามพนักฐานชาลา ด้านในมีรูปเทวดาประทับยืนถือฉัตรเครื่องสูงรายรอบ ระดับที่สอง หรือฐานบน เรียกว่า ฐานพระเมรุ เป็นฐานสิงห์ มีบันไดทางขึ้นจากฐานชาลาทั้ง 4 ทิศ โถงกลางใหญ่ของพระเมรุ จัดตั้งพระจิตกาธานขนาดใหญ่ สำหรับประดิษฐานพระโกศ เพื่อถวายพระเพลิง ทางด้านทิศเหนือของพระจิตกาธาน มีรางยื่นออกไปนอกมุข เป็นสะพานเกริน ใช้เป็นที่เคลื่อนพระโกศจากพระยานมาศสามลำคาน ขึ้นบนพระเมรุ องค์พระเมรุทั้งด้านใน และด้านนอก ประดับตกแต่งด้วยกระดาษทองย่นเกือบทั้งหมด ใช้สีทองเป็นหลัก และประกอบด้วยสีอื่นๆ ที่เป็นสีอ่อนหวาน เหมาะกับพระอุปนิสัย และพระจริยวัตร ที่นุ่มนวลสง่างามของสมเด็จฯกรมหลวงฯ ในส่วนของอาคารต่างๆ ในมณฑลพิธี ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม เป็นอาคารโถง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระเมรุ ใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประทับทรงธรรม และทรงประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกพระเมรุพระศพ ภายในพระที่นั่งทรงธรรม ยังเป็นที่ตั้งอาสนะพระสงฆ์ และธรรมาสน์ และเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพักพระอิริยาบถ ซึ่งตรงกับมุขด้านหน้าของพระเมรุ ส่วนมุขด้านเหนือและใต้ ใช้สำหรับข้าราชการและคณะทูตานุทูต เข้าเฝ้าฯ นอกเหนือจากพระเมรุ กลางท้องสนามหลวงแล้ว องค์ประกอบสำคัญในพระราชพิธีครั้งนี้ ยังรวมถึง ริ้วขบวนพระราชอิสริยยศ ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ซึ่งจัดเตรียมไว้อย่างงดงามตามราชประเพณี รวม 6 ริ้วขบวนประกอบด้วยริ้วขบวนที่ 1 ทำหน้าที่เชิญพระโกศ โดยพระยานมาศสามลำคาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปยังพระมหาพิชัยราชรถ หน้าวัดพระเชตุพนฯ เมื่อกล่าวถึงพระมหาพิชัยราชรถ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นราชรถสำหรับเชิญ พระโกศพระบรมศพพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2338 ต่อมาได้นำมาซ่อมแซมเพื่อใช้งานใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยได้มีการเพิ่มล้อขึ้นอีกในตัวราชรถ เพื่อให้รับน้ำหนักตัวราชรถ, บุษบกยอด และพระโกศที่ตั้งอยู่บนราชรถ ในยามที่เคลื่อนย้ายเข้ากระบวนพระราชพิธี จะได้เป็นไปอย่างราบรื่น


ส่วนริ้วขบวนที่ 2 รับภารกิจเชิญพระโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ จากหน้าวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระเมรุ ท้องสนามหลวง, ริ้วขบวนที่ 3 เชิญพระโกศ โดยพระยานมาศสามลำคานเวียนพระเมรุ โดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ครบ 3 รอบ แล้วเชิญพระโกศประดิษฐานบนพระเมรุ ในวันเก็บอัฐิ (16 พ.ย.), ริ้วขบวนที่ 4 เชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน และพระราชสรีรางคาร โดยพระวอสีวิกากาญจน์ จากพระเมรุท้องสนามหลวง เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนพระวิมาน พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายหลังบำเพ็ญพระราชกุศลพระอัฐิ ในส่วนของริ้วขบวนที่ 5 เชิญพระโกศพระอัฐิ โดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และริ้วขบวนที่ 6 วันบรรจุพระราชสรีรางคาร (19 พ.ย.) เชิญฯพระราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรถยนต์พระที่นั่งไปบรรจุ ณ วัดราชบพิธฯ รูปแบบของเครื่องแต่งกายในริ้วขบวนก็มีสีสันน่าสนใจเช่นกัน ริ้วขบวนทั้ง 6 ประกอบด้วยกำลังพล 5,300 นาย มีทั้งที่มาจากสามเหล่าทัพ, นักเรียนเตรียมทหาร, กรมสรรพาวุธ, กรมพลาธิการ, คณะครูอาจารย์ โรงเรียนราชินี, ราชวินิต, จิตรลดา และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากกระทรวงศึกษาธิการ และกรมศิลปากร นอกจากผู้เข้าประจำในริ้วขบวน จะต้องซ้อมความพร้อมในเรื่องจังหวะและลีลาแล้ว ทุกคนยังต้องแต่งกายตามแบบที่กำหนดไว้ มีทั้งหมด 16 แบบ ใช้งบประมาณในการตัดเย็บ 24 ล้านบาท มีอาทิ เครื่องแต่งกายนำริ้วขบวน เป็นเสื้ออัตลัดสีบานเย็น นุ่งผ้าเกี้ยวลาดรัดประคดโหมดเทศ สวมหมวกทรงประพาสกำมะหยี่ สีดำยอดเกี้ยว, ชุดธงสามชาย เป็นเสื้ออัตลัดสีแดง นุ่งผ้าเกี้ยวลาดรัดประคดโหมดเทศสีแดง สวมหมวกหูกระต่ายแดง ขลิบลูกไม้ใบข้าว, ชุดกลองชนะแดงลายทอง สวมเสื้อปัสตูแดงขลิบเหลือง กางเกงปัสตูแดงขลิบเหลือง สวมหมวกกลีบลำดวนแดงขลิบเหลือง และชุดจ่าปี่กับจ่ากลอง สวมเสื้อเข้มขาบไหม เข็มขัดแถบทองหัวครุฑ กางเกงมัสรูไหม สวมหมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถร่วมถวายดอกไม้จันทน์แสดงความอาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ที่บริเวณท้องสนามหลวง และบริเวณรอบๆ ซึ่งทางกรุงเทพมหานคร ได้จัดทำไว้ จำนวน 8 ซุ้ม ส่วนต่างจังหวัด ได้มีการจัดซุ้มไว้ตามศาลากลางจังหวัด และสถานที่สำคัญทางราชการ

ไม่มีความคิดเห็น: